การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นทางเลือกที่ได้ผลในการรักษาโรคมะเร็งระยะก้าวหน้า อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบันการใช้วิธีนี้รักษาโรคมะเร็งทางเดินอาหารก็ยังไม่ได้มีหลักฐานพิสูจน์เพียงพอ แต่สถานการณ์ก็ได้เปลี่ยนไปเมื่อนักวิจัยสามารถนำทีเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมาใช้ฆ่ามะเร็งได้สำเร็จ โดยทำให้เนื้องอกในหนูที่เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มีขนาดเล็กลง วิธีการใหม่นี้เป็นการฝึกฝนระบบภูมิคุ้มกันให้สามารถจดจำและโจมตีเซลล์มะเร็ง ที่สำคัญคือวิธีนี้ยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเนื้องอกใหม่เพิ่มขึ้นได้ด้วย
ภูมิคุ้มกันบำบัดและโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
รองศาสตราจารย์อาเจย์ เมเกอร์ มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกาเป็นผู้เขียนรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสารการวิจัยด้านโรคมะเร็ง เขาเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่จะสามารถรักษาได้ด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด นักวิจัยได้เพิ่มการแสดงออกของสารไซโตไคน์ที่เรียกว่า ไลท์ (LIGHT) เพื่อกระตุ้นการทำงานของทีเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันซึ่งทำหน้าที่ฆ่าเซลล์มะเร็งตามธรรมชาติ ทำให้เนื้องอกปฐมภูมิในตับมีขนาดเล็กลง สารไลท์ทำหน้าที่เป็นตัวขนส่งทางเคมีที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน แต่ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าสารไลท์ไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแพร่กระจาย ซึ่งมะเร็งจะแพร่กระจายไปสู่เนื้อเยื่อและอวัยวะที่อยู่ห่างออกไปจากอวัยวะที่เป็นต้นกำเนิดของมะเร็ง
ส่วนงานวิจัยครั้งนี้ได้ศึกษาเนื้องอกมะเร็งลำไส้ใหญ่ในหนูทดลองซึ่งมีระบบภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติทำงานตามปกติ สารไลท์จะเข้าไปทำงานในเนื้องอกของหนูกลุ่มทดลอง ส่วนหนูกลุ่มควบคุมจะไม่มีการใช้สารใด ๆ เลย พบว่าในหนูที่ใช้สารไลท์จะมีการผ่านเข้าออกของทีเซลล์อย่างเห็นได้ชัดทำให้เนื้องอกมีขนาดเล็กลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องไม่หยุดแม้สารไลท์จะหยุดการแสดงออกแล้ว และแม้เนื้องอกจะแพร่กระจายไปยังตับแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ยังเหมือนเดิม
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่รักษายาก โดยเฉพาะในกรณีที่โรคแพร่กระจายไปยังตับและอวัยวะอื่น ๆ การรักษาเมื่อโรคแพร่กระจายไปแล้วจะเน้นที่การบรรเทาอาการเจ็บปวดมากกว่าที่จะรักษาโรคที่ต้นเหตุ โรคมะเร็งทางเดินอาหารเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ และเมื่อในปี 2015 …