ในอนาคตโรคมะเร็งจะรักษาได้ด้วยอาร์เอ็นเอ แบคทีเรีย และไวรัส
ระหว่างการประชุมของสมาคมมะเร็งวิทยาทางการแพทย์แห่งสหภาพยุโรปซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี 2016 ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยาได้กล่าวถึงการรักษาโรคมะเร็งโดยใช้ไวรัส แบคทีเรีย และอาร์เอ็นเอ ซึ่งกำลังทำการศึกษาอยู่
การใช้แบคทีเรียและไวรัสรักษาโรคมะเร็ง
โดยธรรมชาติแล้ว แบคทีเรียและไวรัสมีคุณสมบัติในการแบ่งตัว มีความจำเพาะเจาะจงต่อเนื้องอก และช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ฆ่าเซลล์มะเร็ง ด็อกเตอร์เรย์มอน อลิเมนี จากสถาบันมะเร็งวิทยาแห่งคาตาลัน ได้กล่าวไว้ว่า คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้แบคทีเรียและไวรัสสามารถใช้เป็นยารักษาโรคมะเร็งได้
เมื่อปี 1890 วิลเลียม โคลี่ได้นำแบคทีเรียสายพันธุ์สเตรปโตค็อกคัสมาใช้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวน 10 คน การทดลองครั้งนี้มีผู้ป่วยที่การรักษาได้ผลดีจำนวน 1 คน และเมื่อ 40 ปีต่อมา ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกและโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนกว่า 1,000 คน มีอาการดีขึ้นมากหลังจากได้รับการฉีดสารพิษของโคลี่
การทดสอบที่ใช้ไวรัสที่มีความไวต่อโปรตีนอินเตอร์เฟอรอน (interferon-sensitive viruses) ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาในปัจจุบัน แท้จริงแล้วมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950 เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการศึกษาการดัดแปลงไวรัสและแบคทีเรียให้มีความรุนแรงน้อยลงและสามารถเลือกเจาะจงเซลล์เนื้องอกได้ การดัดแปลงนี้ทำให้ไวรัสและแบคทีเรียมีคุณสมบัติในการเลือกโจมตี ติดอาวุธสำหรับใช้ต่อสู้ และปกป้องตัวเอง การเลือกโจมตีคือการแยกความแตกต่างระหว่างเซลล์ต่าง ๆ และเซลล์เนื้องอกที่มีคุณสมบัติจำเพาะ การติดอาวุธสำหรับใช้ต่อสู้หมายถึง การที่มีโปรตีนคอนเวอร์เทสและไซโตไคน์ซึ่งจะไปกระตุ้นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ และการปกป้องตัวเองคือการห่อหุ้มด้วยสารโพลิเมอร์และเปลือกหุ้มเพื่อป้องกันตัวเองจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน
ด็อกเตอร์อลิเมนีกล่าวว่า เรื่องที่ท้าทายที่สุดสำหรับการรักษาด้วยไวรัสก็คือ การขนส่งอย่างเป็นระบบ การแพร่กระจายของไวรัสภายในเนื้องอก และการทำให้ไวรัสมีคุณสมบัติในการต้านเนื้องอกและต้านการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่ต้านไวรัสที่เข้าสู่ร่างกาย มีการใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ เช่น การใช้โปรตีนอัลบูมินปกปิดไม่ให้ภูมิคุ้มกันตรวจพบไวรัส และการใช้เอนไซม์ไฮยาลูรอนิเดสเป็นอาวุธสำหรับไวรัส
ผู้ป่วยโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมามีการตอบสนองต่อไวรัสต้านมะเร็งเหล่านี้ได้ดีกว่า เมื่อมีการใช้สารยับยั้งการทำงานตรวจจับสิ่งแปลกปลอมของระบบภูมิคุ้มกัน ด็อกเตอร์อลิเมนีกล่าวว่า กลยุทธ์ในการรักษาโรคมะเร็งก็คือ การผสมผสานระหว่างไวรัสต้านมะเร็งกับโมเลกุลที่มีคุณสมบัติกระตุ้นการทำงานของทีเซลล์และสามารถต้านเนื้องอกได้ หรือตำแหน่งบนแอนติเจนที่จำเพาะในการกระตุ้นเพื่อต้านเนื้องอก
ปัจจุบันกำลังมีการทดลองทางคลินิกเพื่อศึกษาเกี่ยวกับแบคทีเรียที่ไม่สามารถอยู่ได้ในภาวะมีออกซิเจน และแบคทีเรียที่สามารถอยู่ได้ในภาวะที่มีออกซิเจนอยู่บ้าง สำหรับใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง แบคทีเรียที่ไม่สามารถอยู่ได้ในภาวะมีออกซิเจนจะเติบโตที่บริเวณใจกลางของเนื้องอก ได้แก่ คลอสตริเดียม แลคโตบาซิลลัส และไบฟิโดแบคทีเรียม ส่วนแบคทีเรียที่สามารถอยู่ได้ในภาวะที่มีออกซิเจนอยู่บ้าง เช่น ลิสทีเรีย ชิเกลลา ซัลโมเนลลา และเอเชอริเคีย จะเติบโตอยู่ในส่วนที่มีออกซิเจนในเนื้องอก
“ลิสทีเรียใช้ในการทดลองทางคลินิกมากมาย”” ด็อกเตอร์อลิเมนีกล่าว เขาหวังว่าในอนาคตนักวิทยาศาสตร์จะใช้ “”แบคทีเรียและไวรัสที่สามารถเจาะจงทำลายเนื้องอก สามารถแพร่กระจายอยู่ภายในเนื้องอกได้ และมีการปรับปรุงคุณสมบัติให้สามารถต้านทานเนื้องอกได้””
การใช้อาร์เอ็นเอรักษาโรคมะเร็ง
ด็อกเตอร์ทัสโซนี จากศูนย์โรคมะเร็งทอมมัสโซ แคมพาเนลลา กล่าวว่าอาร์เอ็นเอสามารถทำงานได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในเนื้องอก โดยจะตอบสนองได้นาน และร่างกายสามารถทนทานได้ การรักษาโรคมะเร็งโดยใช้อาร์เอ็นเอเป็นวิธีที่ไม่ซับซ้อน จึงหวังว่าวิธีนี้จะเป็นที่นิยมในอนาคต
เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการศึกษาพบว่า อาร์เอ็นเอสามารถยับยั้งการก่อตัวของเนื้องอก ควบคุมการพัฒนาของโรค และลดอาการดื้อยา
ยาต้านมะเร็งไมโครอาร์เอ็นเอ (miRNA) ชนิดแรกกำลังอยู่ในช่วงการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยโรคมะเร็ง และกำลังวางแผนที่จะทดลองในระยะที่ 2 ส่วนการรักษาโรคมะเร็งด้วยอาร์เอ็นเอวิธีอื่น ๆ ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองทางคลินิกเช่นกัน
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการใช้ไวรัส แบคทีเรีย และอาร์เอ็นเอรักษาโรคมะเร็งจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในอนาคต
Source: Medscape