ชนิดของการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีการแบบองค์รวม
การรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีการแบบองค์รวมเป็นการรักษาแบบการแพทย์สนับสนุนที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงขึ้นทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการรักษาโรคมะเร็งแบบการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยช่วยให้การรักษาแบบการแพทย์แผนปัจจุบันสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น และยังช่วยปกป้องเซลล์ปกติอีกด้วย การรักษาบางอย่างยังช่วยลดอาการอักเสบและลดปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้เซลล์มะเร็งเติบโตได้ดีในร่างกาย
ส่วนการรักษาชนิดอื่น ๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยมีสภาพทางจิตใจและอารมณ์ที่ดีขึ้น
การศึกษาพบว่าคนมากมายทั่วโลกรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีการแบบองค์รวมหลายวิธีร่วมกันเพื่อบรรเทาผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็ง และเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นหลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคมะเร็ง
บทความนี้จะกล่าวถึงการรักษาหลากหลายวิธีที่สามารถทำได้ โดยอาจรักษาด้วยวิธีการเดียวหรือหลายวิธีร่วมกันก็ได้ เพื่อลดผลข้างเคียงที่ผู้ป่วยได้รับจากการรักษาโรคมะเร็ง และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การฝังเข็ม
การฝังเข็มมีต้นกำเนิดที่ประเทศจีน โดยเป็นการใช้เข็มที่มีขนาดเล็กเท่าเส้นผมปักที่จุดต่าง ๆ ในร่างกายเพื่อช่วยให้พลังงานในร่างกายไหลเวียนดีขึ้น การฝังเข็มช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังการผ่าตัด และยังช่วยรักษาอาการปวดตามข้อและอาการชาที่เส้นประสาทได้
การนวดบำบัด
การบำบัดชนิดนี้เป็นการนวดสัมผัสโดยใช้แรงกดที่กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนในร่างกาย การนวดช่วยให้ผ่อนคลายและรู้สึกสบาย และช่วยลดอาการคลื่นไส้และอ่อนเพลียได้ด้วย
การนวดกดจุดสะท้อนฝ่าเท้า
การบำบัดวิธีนี้เป็นการกดจุดบริเวณเท้า มือ และใบหูด้านนอก ซึ่งเป็นบริเวณที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับอวัยวะและระบบต่าง ๆ ในร่างกาย จึงเป็นวิธีการที่ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและสบายขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดอาการอ่อนเพลียและคลื่นไส้จากการรักษาโรคมะเร็งด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน
พลังจักรวาล (เรกิ)
การบำบัดนี้เป็นวิธีการที่ชาวญี่ปุ่นโบราณใช้บรรเทาความตึงเครียด ช่วยให้ผ่อนคลาย และเยียวยาความเจ็บป่วยได้ดีขึ้น การใช้พลังจักรวาลทำได้โดยการวางมือบนผู้ป่วยตามแนวคิดที่ว่าทุกชีวิตมีพลังชีวิตที่เรามองไม่เห็น แต่ทำหน้าที่สร้างชีวิตและช่วยให้ชีวิตสามารถดำรงอยู่ได้
การบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว
การบำบัดนี้ทำได้โดยการเคลื่อนไหวร่างกายไปตามจังหวะ เช่น การเล่นโยคะ ไทชิ และการออกกำลังกายตามปกติ การออกกำลังกายช่วยให้กล้ามเนื้อที่เมื่อยล้าได้ผ่อนคลายมากขึ้นและช่วยลดความเครียด ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ออกกำลังกายเป็นประจำจะมีพลัง และไม่ค่อยอ่อนเพลียเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหว
ศิลปบำบัด
วิธีการศิลปบำบัดช่วยให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ทางบวกมากขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และบางครั้งอาจช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายขึ้นด้วย ตัวอย่างของศิลปบำบัด ได้แก่ การระบายสี การเขียนเชิงสร้างสรรค์ การเล่นดนตรี และการฟังเพลง
การทำสมาธิ
การทำสมาธิช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายโดยทำให้จิตใจได้พักผ่อน ช่วยให้ร่างกายสามารถรู้สึกสงบได้ตามธรรมชาติ จึงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเครียดน้อยลง มีความสมดุลทางอารมณ์ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ จึงเป็นวิธีการที่แนะนำให้ใช้เพื่อลดความวิตกกังวลและระดับความเครียดของผู้ป่วย
Source: Dana Farber